เกณฑ์การรับเข้าด้วยระบบ TCAS (ข้อมูลสำหรับปีการศึกษา 2566)
รอบที่ 3 ADMISSIONS
กลุ่มมีพื้นฐานความรู้ภาษาญี่ปุ่น (จำนวน 30 คน)
คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนน GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.75
เกณฑ์การคัดเลือก (ค่าน้ำหนัก 100%)
1. A-Level 70 สังคมศึกษา ค่าน้ำหนัก 25%
2. A-Level 81 ภาษาไทย ค่าน้ำหนัก 25%
3. A-Level 82 ภาษาอังกฤษ ค่าน้ำหนัก 25%
4. A-Level 85 ภาษาญี่ปุ่น ค่าน้ำหนัก 25%
กลุ่มไม่มีพื้นฐานความรู้ภาษาญี่ปุ่น (จำนวน 20 คน)
คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนน GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.75 และเป็นผู้ที่ไม่มีพื้นความรู้ภาษาญี่ปุ่นมาก่อน กล่าวคือ
1. เป็นผู้ที่ไม่มีผลการเรียนภาษาญี่ปุ่นในระดับมัธยมปลายปรากฏรวมเกิน 6 หน่วยกิต และ
2. เป็นผู้ที่ต้องไม่ได้เลือกสอบวิชา A-Level 85 ภาษาญี่ปุ่น ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยและ
3. เป็นผู้ที่ไม่เคยไปอยู่ และ/หรือ ศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นติดต่อกันนาน 6 เดือนขึ้นไป
เกณฑ์การคัดเลือก (ค่าน้ำหนัก 100%)
1. A-Level 70 สังคมศึกษา ค่าน้ำหนัก 25%
2. A-Level 81 ภาษาไทย ค่าน้ำหนัก 25%
3. A-Level 82 ภาษาอังกฤษ ค่าน้ำหนัก 25%
4. A-Level 62 คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2, 83 ภาษาฝรั่งเศส, 84 ภาษาเยอรมัน, 86 ภาษาเกาหลี, 87 ภาษาจีน, 88 ภาษาบาลี หรือ 89 ภาษาสเปน ค่าน้ำหนัก 25%
เอกสารที่ต้องส่งคณะและนำมาในวันสอบสัมภาษณ์
1. ใบสมัครพิมพ์ออกจากระบบรับสมัครที่แสดงข้อมูลอันดับการเลือก ที่เว็บไซต์ student.mytcas.com
2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
3. ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา
4. ใบแสดงผลสอบ A-Level ของทุกครั้งที่เคยเข้าสอบ
5. ใบปพ.1 พร้อมสำเนา
6. ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (หากมี)
หากตรวจพบว่าผู้ผ่านการคัดเลือกที่เข้าสอบสัมภาษณ์มีคุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศรับสมัคร มหาวิทยาลัยจะปรับเป็นผู้ไม่ผ่านการคัดเลือก
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tuadmissions.in.th/
ข้อมูล ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565
สังคมคณะ เอกวิชา
สังคมคณะศิลปศาสตร์ เป็นคณะที่มีจำนวนนักศึกษามากที่สุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งเป็นคณะที่ไม่มีระบบโซตัสในการรับน้อง แต่จะมีเป็นกิจกรรมของ “โต๊ะ” ซึ่งไม่เป็นการบังคับแต่อย่างใด เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนมากอาจทำให้นักศึกษารู้จักกันไม่ทั่วถึง จึงเป็นที่มาของ “โต๊ะ”
“โต๊ะ” ในที่นี้คือกลุ่มของนักศึกษา ที่จะถูกแบ่งในกิจกรรมวันแรกพบของธรรมศาสตร์ ที่คณะศิลปศาสตร์จะมีอยู่ 6 โต๊ะ ซึ่งมีที่มาจากสัญลักษณ์ของคณะ ได้แก่
1.ลายสือ
2.ปากจอว์
3.น้ำพุ
4.ลานโพ
5.จิ้งหน่อง
6.สวนศิลป์
ในโต๊ะจะมีเพื่อนๆ มาจากหลายๆ เอกมารวมกันและจะทำกิจกรรมด้วยกันไปจนเรียนจบ การเข้าโต๊ะนั้นไม่ใช่การบังคับ ขึ้นกับความสมัครใจของแต่ละคน แต่การมีเพื่อนโต๊ะถือว่าได้มีสังคมไปอีกแบบหนึ่งนอกเหนือจากเพื่อนในเอก
เอกญี่ปุ่นของธรรมศาสตร์ มีบรรยากาศการเรียนสนุกสนาน และเป็นกันเองเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ไทยหรือญี่ปุ่น ก็เป็นกันเองกับนักศึกษา และสอนสนุก เพื่อนในเอกก็ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ในตัวเอง นอกจากนั้นเอกญี่ปุ่นยังเป็นเอกที่ค่อนข้างมีความสามัคคีและช่วยกันเรียนด้วย แต่เพื่อนๆ ทุกคนเก่งมาก และแต่ละคนพยายามเรียนไปด้วยกัน เพื่อนๆ ในเอกญี่ปุ่นค่อนข้างสนิทกันมาก ถึงจะเป็นเอกที่เรียนหนักแต่ก็มีความสุขมาก
การเรียนการสอน เนื้อหา การสอบ
ส่วนนี้ก็จะเป็นสารจากพี่ๆ เอกภาษาญี่ปุ่นทั้งกลุ่มมีพื้น และไม่มีพื้น ฝากถึงน้องๆ เรื่องการเรียนการสอน เนื้อหา การสอบในเอกเรา
สารจาก พี่ๆ กลุ่มมีพื้น
ในการเรียนภาษาญี่ปุ่นหลัก JP211,JP212 เนื้อหาที่เรียนจะอยู่ระดับประมาณ N3 ขึ้นไป ซึ่งน้องๆ ที่เข้ามาเรียนสองตัวนี้ตอนแรกอาจตกใจว่าทำไมมันยากและเยอะมากขนาดนี้ แถมยังมีควิซทุกสัปดาห์ และก็ไม่ใช่สัปดาห์ละครั้งสองครั้ง บางทีเราอาจเจอควิซพร้อมกันสามตัวในสัปดาห์เดียว เพราะการควิซของเอกญี่ปุ่นเรา จะแบ่งการสอบออกเป็นคำศัพท์ ไวยากรณ์และคันจิ ซึ่งพอเรียนจบสองหรือสามบทก็จะมีการควิซ ทุกครั้งเพื่อเก็บคะแนนและเป็นการทบทวนความจำไปในตัว และยิ่งถ้าเรียนคู่กับตัวฟัง-พูดแล้วอาจได้ควิซฟังแถมเพิ่มมาอีกทุกสัปดาห์ และตอนสอบกลางภาคกับปลายภาคก็จะมีการเอาเนื้อหาที่เรียนไปทั้งหมดมาสอบรวมกันใหม่อีกรอบหนึ่งและยังได้สอบอ่านกับสอบสนทนาเพิ่มเป็นการฝึกทักษะให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างรอบด้านและเก่งขึ้น
ถึงจะรู้สึกว่ามันหนักมากในตอนแรก แต่พอเรียนไปสักพักก็จะเริ่มปรับตัวและเก่งขึ้นเองได้ เพราะพอเราเข้ามาเรียนเอกญี่ปุ่นของธรรมศาสตร์แล้ว จะได้เจอเพื่อนและเรียนรวมกับเพื่อนเอกเดียวกันเราจะเริ่มรู้สึกว่า “ทำไมมีแต่คนเก่งๆ เต็มไปหมด ไม่ได้การหล่ะ! เราเองก็ต้องขยันบ้าง” มันจะช่วยทำให้เราสู้และพัฒนาตัวเราได้เร็วขึ้นเอง แต่ถึงจะพูดอย่างนั้นจริงๆ แล้วเอกญี่ปุ่นของเราไม่ได้แข่งกันเรียนหรอกนะ เพราะทุกคนที่เข้ามาได้เข้าเอกกันหมดทุกคนแล้ว เวลาเรียนด้วยกันจึงเหมือนกับช่วยกันเรียนมากกว่าที่จะแข่งกัน ถ้าหากเราไม่เข้าใจหรือตามไม่ทันกับเรื่องที่เรียนก็สามารถให้เพื่อนช่วยสอนได้ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ที่ทั้งเก่งและใจดีมาก มีอาจารย์ของเราหลายท่านที่แปลนิยายหรือหนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นทั่วไปที่พวกเราอ่านกัน และที่นี่นักศึกษาเอกญี่ปุ่นและอาจารย์ทุกคนก็สนิทกัน คือไม่มีกำแพงกั้นระหว่างกัน อยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัว เวลาที่มีเรื่องอะไรไม่เข้าใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องในรั้วมหาลัย ก็สามารถไปปรึกษาและพูดคุยกับอาจารย์ทุกคนได้ตลอด
สารจาก พี่ๆ กลุ่มไม่มีพื้น
สำหรับการเรียนของเอกกลุ่มไม่มีพื้น ถือว่าค่อนข้างไปเร็วและอัดแน่นพอสมควร เริ่มมาสัปดาห์แรกก็ต้องจำตัวอักษรให้ได้ (แนะนำว่าจำมาก่อนเข้าเรียน) การเรียนในห้องอาจารย์จะอธิบายเร็วพอสมควร แต่หากไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถมาถามเพิ่มเติมได้ท้ายคาบ รวมถึงคำศัพท์ที่ต้องท่องจำมาก่อน ไม่อย่างนั้นจะเรียนตามในห้องไม่ทัน ซึ่งบทหนึ่งก็มีราวๆ 50-80 คำ พอเรียนจบก็จะมีการบ้านมาเป็นระยะ บางทีเรียน 3 วัน ต่อสัปดาห์ แต่อาจจะต้องส่งการบ้านถึง 4 วัน เท่านั้นยังไม่พอ ฝันร้ายสำหรับเด็กเอกนี้คือ ควิซ นั่นเอง ซึ่งมีมาให้สอบแทบทุกสัปดาห์จริงๆ บางสัปดาห์มีถึง 2 ควิซเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเวลาว่างในชีวิตจะอุทิศให้ญี่ปุ่น ถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ยังมีเวลามากพอที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สำหรับปี 1 แล้ว ควรเน้นทั้งการเรียน และกิจกรรม เพราะถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่า ก็ขอฝากน้องๆ ว่าเต็มที่กับการเรียนแล้วก็อย่าลืมกิจกรรมกันบ้าง ช่วงแรกๆ จะมีปัญหาเรื่องการจัดการเวลาพอสมควร ก็ค่อยๆ ปรับตัวกันไป บรรยากาศการเรียนสำหรับกลุ่มไม่มีพื้น ค่อนข้างเคร่งเครียด และแข่งขันพอสมควร เพราะปีนี้(57) คนอยากเข้าเอกเยอะมากๆ จนเกินกำหนด ทุกคนจึงมองคนรอบตัวเป็นคู่แข่ง แต่อย่าลืมว่าการเรียนและพยายามด้วยตนเองคนเดียวสู้การช่วยกันเรียนไม่ได้หรอก อยากให้พยายามสนิทกันไว้มากๆ สุดท้ายแล้วก็จะได้เข้าเอกกันทั้งนั้น
ทุนการศึกษาและทุนเรียนต่อต่างประเทศ
ทุน การศึกษา คือ ทุนที่ มอบให้นักศึกษานำไปใช้ประโยชน์ในการเรียน มักจะให้นักศึกษาที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวนเงินจะให้เป็นปี ปีละ 15,000-40,000 บาท แล้วแต่บริษัท ยกตัวอย่างเช่น Mitsubishi UFJ Foundation, Mitsubishi Lease ฯลฯ
ทุนเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนใหญ่นักศึกษาที่จะได้ทุนนี้จะต้องเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ประเภททุนมีใหญ่ๆสองประเภทได้แก่
1. ทุนวิเทศสัมพันธ์ คือทุนที่ทางมหาวิทยาลัยติดต่อกับมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะได้ทุนเป็นค่าเล่าเรียน อีกบางส่วนต้องออกเอง
2,ทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho) การแข่งขันทุนนี้สูงมาก ต้องสอบชิงทุนกับคนทั่วประเทศ แต่ถ้าได้ก็คุ้มมาก เพราะฟรีทุกอย่าง อีกทั้งพอเรียนจบมาก็มีเครดิตที่ดีๆ ในการสมัครงานอีกด้วย
จบมาทำอะไรได้บ้าง
สายอาชีพของบัณฑิต เอกญี่ปุ่นมีเยอะมาก เราก็สามารถเลือกได้ตามความถนัด ความชอบ หรือเงินเดือนสวัสดิการ (ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละคน) ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบเห็นบ่อยๆ ก็จะเป็น งานล่าม/นักแปล เลขา/ผู้ประสานงาน ไกด์นำเที่ยว ทำธุรกิจส่วนตัว หรือเรียนต่อปริญญาโท-เอก เพื่อมาเป็นอาจารย์ก็มีเช่นกัน